การตัดสินใจ

(อ่าน 2516/ ตอบ 2)

ไอวี่จัง

การตัดสินใจเป็นกิจกรรมที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในชีวิตของทุกคน มีผลดีผลร้ายมาก ตัดสินใจถูกต้องก็ประสบความสำเร็จ ร่ำรวย มีความสุข สุขภาพแข็งแรง ส่วนการตัดสินใจผิดพลาดอาจจะทำให้เสียเวลา เสียเงินทอง เสียสุขภาพ เดือดร้อนตนเอง หรือทำให้สังคมเดือนร้อนได้


คนเราตัดสินใจ เกือบจะทุกวินาที ในเรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญ เรื่องเล็ก ๆ น้อยก็เป็นการตัดสินใจเหมือนกัน เช่น จะสมัครงานที่ไหนดี จะเลือกเรียนวิชาอะไรดี มื้อนี้จะกินอะไรดี หรือจะทำอะไรต่อไปดี กับเรื่องที่สำคัญ ปัญหาที่สลับซับซ้อน โดยเฉพาะการตัดสินใจที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อคนจำนวนมาก ยิ่งต้องมีความฉลาดรอบคอบในการตัดสินใจเป็นทวีคูณ


อย่างไรเรียกว่าเป็นการตัดสินใจที่ดี?  เช่น นาย ก. ตัดสินใจที่จะขายเสื้อผ้าแล้วลงทุนซื้อของมา ถ้าเกิดขายดีขายหมด ก็ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ดี แต่ถ้าขายไม่ดี ขายไม่หมด คนทั่วไปจะมองว่าตัดสินใจไม่ดี แต่จริง ๆ แล้วต้องพิจารณากิจกรรมที่นาย ก. ทำ เช่น ถ้าขายเสื้อผ้าที่ซื้อมาถูกกฎหมาย เสียภาษีถูกต้อง ค้าขายอย่างสุจริต ไม่หลอกลวงลูกค้า ลงทุนอย่างระมัดระวัง ไม่โลภ ก็ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ดี ที่ถูกต้อง น่ายกย่อง --- เราวัดจากผลลัพธ์ของการตัดสินใจอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูกระบวนการที่ได้มาด้วย


หลักในการตัดสินใจ


จะตัดสินใจอย่างไรให้ดีที่สุด?  ไม่นับการทำตามอำเภอใจ ก็มีหลักและวิธีที่นิยมใช้กันอยู่อย่างนับไม่ถ้วน เช่น


๑) ห้าขั้นตอนของกระบวนการตัดสินใจ


๑. ระบุปัญหา

๒. รวบรวมข้อมูล

๓. กำหนดและวิเคราะห์ทางเลือก

๔. ตัดสินใจเลือกทางเลือกที่ดีที่สุด

๕. ลงมือทำและติดตามประเมินผล

๒) ถูกต้อง เหมาะสม ถูกกาละเทศะ



ตัดสินใจทำเฉพาะสิ่งที่ถูกต้อง เหมาะสม กับกาละเทศะ กับวัย กับสถานการณ์



๓) ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว



อะไรดีก็ทำ ไม่ดีก็ไม่ทำ ไม่เบียดเบียนผู้อื่นและตัวเอง



๔) อริยสัจจ์สี่


๑. พิจารณาว่าอะไรคือปัญหาหรือทุกข์ (ทุกข์)

๒. หาสาเหตุของปัญหาหรือสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ (สมุทัย)

๓. รู้สภาวะที่ต้องการให้เป็น หรือสภาวะที่ทุกข์ตามข้อ ๑. หมดไป (นิโรธ) และ

๔. ด้วยวิธีไหนที่จะแก้ไขปัญหาหรือไม่ทุกข์ (มรรค)

๕) มรรคแปด



ปฏิบัติตามมรรคมีองค์แปด



๖) ความพอดี ทางสายกลาง



ความพอดี พอเหมาะ ไม่ตึง ไม่หย่อนเกินไป ทำไปตามสถานภาพ ตามความเป็นไปได้



๗) Objective Oriented



มุ่งที่วัตถุประสงค์หรือปัญหา



๘) Information Oriented



ตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลที่เชื่อถือได้ และเพียงพอ



๙) Win/Win



ตัดสินใจโดยยึดหลักชนะ/ชนะ ให้ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย มักใช้กับการเจรจาต่อรอง หรือการค้าขาย  ซึ่งปกติจะมีอยู่สองฝ่าย เช่น นายจ้างกับลูกจ้าง ผู้ซื้อกับผู้ขาย



๑๐) Job Specification + Priority



ตัดสินใจทำตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ และตามลำดับความสำคัญของงาน



๑๑) Low Risk / High Return



ตัดสินใจเลือกทางเลือกที่ความเสี่ยงต่ำที่สุด ได้ผลตอบแทนมากที่สุด  หรือทำอย่างไรจะทำให้ความเสียงต่ำ แล้วผลตอบแทนสูง มักใช้กับการลงทุน



๑๒) เศรษฐกิจพอเพียง



พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สามารถนำมาปรับใช้ในการตัดสินใจได้



๑๓) การตอบโจทย์และทำให้ง่าย



ตรงตามเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่ตั้งเป็นโจทย์คำถาม  แล้วก็ทำให้ง่าย ๆ ลดความยุ่งยากซับซ้อน จะได้ประหยัดเวลา แรง และค่าใช้จ่าย



๑๔) ความคุ้มค่าหรือผลตอบแทน



เปรียบเทียบผลได้และผลเสีย ระหว่างทางเลือกต่าง ๆ แล้วเลือกทางเลือกที่คุ้มที่สุด



๑๕) ห้าขั้นตอนของการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์



แนวทางแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ที่สอนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ ก็อาจสามารถนำมาปรับใช้ในการตัดสินใจได้เช่นกัน  ห้าขั้นตอนมีดังนี้คือ


๑. ระบุและทำความเข้าใจโจทย์ปัญหา

๒. วิเคราะห์โจทย์ ว่ามีข้อมูลอะไรให้มาบ้าง และคำตอบที่โจทย์ต้องการคืออะไร

๓. หาวิธีแก้ โดยการหาความสัมพันธ์ของสิ่งที่โจทย์ต้องการกับข้อมูลที่ให้มา  และแปลงเป็นประโยคสัญลักษณ์ในรูปของสมการ

๔. คิดคำนวณ บวกลบคูณหารตามสมการนั้น

๕. ตรวจสอบความถูกต้องของคำตอบ



๑๖) คำสอน ๓ ข้อขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า


คำสอนทั้งสามข้อสามารถใช้เป็นหลักยึดในการตัดสินใจได้ ซึ่งได้แก่ ไม่ทำชั่ว ทำดี และทำจิตใจให้สะอาด


ทักษะการตัดสินใจ


นอกจากหลักในการตัดสินใจที่กล่าวไว้ข้างต้น ยังมีแง่มุมที่น่าสนใจดังจะกล่าวต่อไป ซึ่งไม่สามารถนำไปใช้ได้กับทุกสถานการณ์ ถูกรวบรวมมาไว้เป็นหมวดหมู่ เพื่อเพิ่มพูนความสามารถในการตัดสินใจ ดังนี้


ศิลปะของการตัดสินใจ



  • นอกจากหลักหรือวิธีดังกล่าวมาแล้ว ยังมีอีกนับไม่ถ้วน จะเลือกใช้อันไหนดีก็แล้วแต่คุณจะพิจารณาล่ะ

  • จะเลือกวิธีไหน ควรมีความยืดหยุ่น วิธีหนึ่ง ๆ อาจใช้ไม่ได้กับทุกปัญหา หรือทุกสถานการณ์

  • วิธี่การแก้ปัญหาที่เราตัดสินใจเลือกแล้วอาจจะไม่ดีที่สุด ยังมีที่ดีกว่า ง่ายกว่า และประหยัดกว่า การจะเห็นหนทางนั้น อาจจะเข้าไปคุยกับผู้รู้ผู้มีประสบการณ์ในงานนั้นหรืองานลักษณะใกล้เคียงกัน  เขาบางคนอาจจะไม่ได้ให้คำตอบที่ถูกต้อง แต่ก็ทำให้เราได้เปิดโลกทัศน์ของเราให้กว้างขึ้น ซึ่งจะนำเราเข้าไปใกล้คำตอบที่แท้จริง  ส่วนบางคนอาจจะให้คำตอบที่ถูกต้องแบบใช่เลย หรือการพูดคุยกับผู้อยู่นอกวงการอาจจะได้คำตอบที่ดีกว่าง่ายกว่าที่ว่าใช่เลยเสียอีกก็เป็นได้


ความแน่วแน่



  • หากจะให้ถึงเป้าหมายปลายทางได้เร็ว ไม่ควรวอกแวก ออกนอกเส้นทาง  ถ้าจะทำเช่นนั้นก็ควรมีสติรู้ และตรวจสอบผลกระทบหากจะข้องแวะ หรือเปลี่ยนเส้นทาง


การวางแผน



  • การออกแบบหรือวางแผนในสิ่งที่ต้องการให้ชัดเจนเพียงพอ ครอบคลุมองค์ประกอบที่สำคัญให้ครบถ้วน จะช่วยให้ตัดสินใจได้ดีขึ้น

  • กำหนดเป้าหมาย และระบุข้อควรระวัง --- เป้าหมายคือสิ่งที่เราต้องการให้เกิดขึ้นหรือจุดหมายปลายทางที่เราต้องการไปให้ถึง   ส่วนการระบุข้อควรระวัง เริ่มจากการระบุชนิดของอุบัติเหตุหรือความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น โดยที่มักจะเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบ (เช่น เครื่องมือที่มีอันตราย) หรือเกิดขึ้นในกระบวนการที่ดำเนินไปสู่เป้าหมาย  ให้พุ่งความสนใจไปที่ความเสียหายที่สำคัญก่อน แล้วกำหนดแนวทางป้องกันแก้ไขความเสียหายนั้น

  • การออกแบบในหลายกรณีไม่จำเป็นต้องทำสมบูรณ์หรือเผื่อสถานการณ์ที่ยังไม่เกิดในทันที เพราะการเผื่อเช่นนั้นอาจจะทำให้เกิดความยุ่งยากในการใช้งานในปัจจุบัน    ถ้าสิ่งที่เราจะเผื่อนั้นสามารถทำเพิ่มหรือแก้ไขได้ในภายหลังไม่ยาก อันนี้ก็ไม่จำเป็นต้องเผื่อ  สิ่งที่น่าจะเผื่อคือกรอบหรือโครงร่างคร่าว ๆ ที่เผื่อสำหรับการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมในอนาคต

  • ไม่ควรวางใจ เพียงเพราะไม่ใช่กิจกรรมของเรา แล้วจะไม่ต้องทำอะไร  ควรเตรียมวางแผนและลงมือทำงานบางอย่างไว้บ้าง อย่างน้อยให้รู้เป้าหมาย หนทางสู่เป้าหมาย และข้อจำกัดหรืออุปสรรค  พอถึงเวลาเขาอาจจะมาขึ้นอยู่กับเราให้เรานำพาก็ได้


ความลังเล



  • กับเรื่องที่เราเปลี่ยนใจเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ไม่แน่ใจ เราอาจจะทำการตัดสินใจหลาย ๆ ครั้ง หมายความว่าตัดสินใจแล้วเว้นเวลาไว้สักระยะหนึ่งจึงตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง ทำอย่างนี้ซ้ำหลาย ๆ รอบ เพื่อให้ได้การตัดสินใจที่ดีที่สุด นอกจากนั้นในแต่ละครั้งของการตัดสินใจจะมีการเปลี่ยนกรอบหรือแนวคิดในการตัดสินใจ เช่น ระบุเป้าหมายและแนวทาง หรือคำนึงถึงความสะดวกในการใช้งาน ความสวยงาม ความจำเป็น ค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้น เวลาของการที่ต้องแก้ไขงาน ผลกระทบต่อฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการปรึกษาผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อการตัดสินใจฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงหนึ่งหรือสองฝ่าย และการออกไปสำรวจและเปรียบเทียบ อย่างนี้เป็นต้น

  • ในเรื่องเดียวกัน การตัดสินใจครั้งที่สอง หรือครั้งที่สาม อาจจะดีกว่าการตัดสินใจครั้งแรก เพราะได้คิดหลายด้าน และยืนยันหนักแน่นแล้ว

  • ทำใจสมมุติตัดสินใจโดยยังไม่บอกอีกฝ่ายหนึ่งให้ทราบ เลือกทางที่เราสนใจที่สุด ด้วยเหตุผลและความรู้สึก แล้วรอเวลาดูว่าเราจะมีความคิดเห็นอะไรใหม่ ๆ ที่จะสนับสนุนหรือคัดค้านการตัดสินใจของเราบ้าง เมื่อถึงเวลานัดหมาย เราจึงแจ้งผลการตัดสินใจขั้นสุดท้ายของเรา

  • การตัดสินใจที่ดีควรตัดสินใจให้ได้ผลลัพธ์ที่ควรจะเป็น หากถ้ามีอุปสรรคที่สำคัญอันหนึ่งของฆราวาสผู้ประพฤติธรรมดี ซึ่งก็คือการนำธรรมะมาประยุกต์ใช้กับชีวิตทางโลกมากเกินไป เรียกว่า "ดีเกินไป" ดีเกินกว่าที่จะตัดสินใจแก้ปัญหาในทางโลกได้อย่างง่ายดาย มีประสิทธิภาพสูงสุด และสร้างสรรค์  เพราะธรรมที่ยึดถือเกินเหล่านั้นเป็นอุปสรรค จึงตัดสินใจไม่ได้ ลังเล จะตัดสินใจอะไรก็ห่วงแต่ว่าจะเบียดเบียนเขาหรือจะทำให้เขาลำบาก จนหารู้ไม่ว่าในขณะนั้นอาจกำลังเบียดเบียนตนเองหรือถูกเบียดเบียน  อาการของการผ่านด่านนี้ไปได้ จิตใจจะไม่มีธรรมที่เกินไปเหล่านั้นมาเหนี่ยวรั้งไว้ ใจจึงเป็นอิสระ เห็นทางเลือกที่สร้างสรรค์ ประหยัดกว่า และมีประสิทธิภาพสูงสุด  ซึ่งทางที่ตัดสินใจเลือกตามหลักแล้วก็ไม่ได้เบียดเบียนเขาเลย ไม่เบียดเบียนตัวเอง แล้วใจตนก็เบาสบาย มีความสุขด้วย เพราะเป็นการตัดสินใจที่มุ่งสู่สิ่งที่ควรจะเป็น


ความเข้าใจ



  • ควรได้ข้อมูลชัดเจนถูกต้องเพียงพอ ซึ่งอาจจะเกี่ยวกับเรื่องต่อไปนี้

    ๑. แสงสว่างเพียงพอที่จะเห็นตำหนิที่อาจถูกปกปิดอยู่

    ๒. ถ้าข้อมูลยังไม่พอ ยังหาไม่เจอ อาจจะมองรอบ ๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วนยิ่งขึ้น

    ๓. ไม่งง เราสามารถแก้งงด้วยการเดินหรือย้ายที่อย่างมีสติ

  • เมื่อติดขัดไม่สามารถตัดสินใจได้ เนื่องจากไม่มีข้อมูลหรือขาดความรู้เชิงลึก อาจจะปรึกษาผู้มีความรู้ มีประสบการณ์ หรือเกี่ยวข้อง นอกจากนั้นยังสามารถหาความรู้ หาข้อมูลเพิ่มเติม จากแหล่งต่าง ๆ เช่น อินเตอร์เน็ต หนังสือ เป็นต้น

  • ตรวจสอบความเข้าใจของผู้ที่เกี่ยวข้องให้ตรงกัน ในเรื่องที่นำมาพูดคุยกัน เพื่อป้องกันไม่ให้มีประเด็นที่สำคัญหลุดไป    อีกนัยหนึ่งคือ ประเด็นหรือแนวทางการปฏิบัติที่คู่เจรจาพูดถึงหรือเสนอ ควรจะต้องมีการยืนยันว่าเข้าใจตรงกันทั้งเราและเขา  หากเขาเสนอแนวทางแล้ว เราเฉย ๆ เขาอาจจะทึกทักทำตามนั้น ซึ่งต่อมาอาจจะมีผลกระทบต่อคุณภาพงาน หลังจากนำแนวทางนั้นไปปฏิบัติ

  • การตัดสินใจผิดอาจมาจากความเข้าใจผิด ความเข้าใจผิดอาจมาจากการได้รับข้อมูลที่ผิด การที่จะให้ได้รับข้อมูลที่คลาดเคลื่อนน้อยที่สุด อาจทำดังนี้

    ๑. อยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย หรือพยายามที่จะให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องเพียงพอ อย่างน้อยควรมีข้อมูลจากฝ่ายหลัก ๆ ที่เกี่ยวข้อง

    ๒. ก่อนที่จะยอมรับเป็นความเข้าใจ อาจจะตั้งเป็นข้อสมมุติฐานและตรวจสอบเพื่อยืนยันข้อสมมุติฐานนั้นก่อน

    ๓. ข้อมูลที่ได้รับมาบ่อยครั้งไม่ได้เป็นเช่นนั้นหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์

    ๔. ตัวเลขที่ได้จากการคำนวณหรือเอกสารที่แสดงอาจจะเป็นค่ารวม ไม่เฉพาะเจาะจงในจุดที่ต้องการศึกษา  ในการนี้รู้ได้ด้วยการสังเกต ดูความเป็นไปได้ และตรวจสอบยืนยันความเข้าใจ

  • หลีกเลี่ยงที่จะประเมินว่าปัญหาที่จะต้องตัดสินใจแก้นั้นยากหรือง่าย เพราะเรื่องที่ดูยาก จริง ๆ อาจจะง่าย และเรื่องที่ดูง่ายจริง ๆ กลับยาก สถานการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นได้เสมอ   ความรู้สึกว่ายากว่าง่ายมักจะชี้นำเราไปผิดทาง คือเมื่อประเมินว่ายากก็จะชักนำให้เราไปใช้วิธีที่สลับซับซ้อน และเมื่อประเมินว่าง่ายก็จะทำให้เกิดความประมาท  ดังนั้น ให้หลีกเลี่ยงที่จะบอกว่ายากหรือง่าย แล้วหันมาพิจารณาหาจุดที่ปัญหาเกิดแล้วแก้ไขตรงนั้น

  • ก่อนทำ ให้รู้ ข้อจำกัดหรือข้อควรระวัง

  • ระลึกถึงพระไตรลักษณ์ไว้ให้ขึ้นใจ ว่าสิ่งต่าง ๆ มีอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ประกอบอยู่


ก่อนการตัดสินใจ



  • ในเบื้องต้น ควรตัดข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น งบประมาณ ออกไปก่อน เพื่อเปิดรับข้อเสนอและความคิดเห็นต่าง ๆ ทำให้เห็นทางเลือกที่หลากหลาย เมื่อจะตัดสินใจจริง ๆ จึงนำข้อจำกัดเหล่านั้นมาพิจารณาประกอบ 


สภาวะที่เหมาะแก่การตัดสินใจ



  • ควรตัดสินใจในขณะที่จิตใจสงบ เบาสบาย

  • การตัดสินใจที่เป็นอิสระจะไม่โอนเอนไปตามคำพูด ความเห็น หรือข้อกำหนด แต่จะต้องพิจารณาหลาย ๆ แง่มุม และให้เข้าใจถูกต้องเสียก่อน


ความรอบคอบ



  • เมื่อตัดสินใจแล้ว ถามตัวเองอีกทีว่า “ทำไม?” คือตัดสินใจอย่างมีเหตุผลมีข้อมูล

  • ควรคำนึงถึงผลกระทบด้านต่าง ๆ หากลงมือทำตามที่ตัดสินใจ  เช่น ผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม คน ฯลฯ

  • ควรพิจารณาหลาย ๆ ด้าน (ดูมิติของการพิจารณาที่จะกล่าวต่อไป หรือดูเรื่องเก้าอี้สี่ขา) หลีกเลี่ยงไม่ให้การตัดสินใจถูกครอบงำ  สิ่งที่ครอบงำ ได้แก่ ความเกรงใจ ความเกรงกลัวต่อบาปจนเกินความพอดี การนึกถึงผลกระทบต่ออีกฝ่ายหนึ่งจนลืมเป้าหมายที่ควรจะเป็น เป็นต้น

  • มิติของการพิจารณาเพื่อประกอบการตัดสินใจ ประกอบด้วย

    ๑. ดูแนวลึก - ควรคิดให้ตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ เช่นว่า เราอยากจะปลูกต้นกล้วยหลาย ๆ ต้น แต่พอได้หน่อกล้วยมา ๒๐ หน่อ ปรากฏว่าเพิ่งมานึกได้ว่า จะต้องใช้พื้นที่ขนาดไหน ดินแค่ไหน จะใส่อะไรไว้ ถ้าคิดตลอดตั้งแต่เริ่มอยาก อาจจะตัดสินใจได้ดีขึ้น

    ๒. ดูแนวกว้าง - พิจารณาหลาย ๆ ด้าน ตัวอย่างได้แก่ การซื้อบริการเก็บพื้นที่เว็บไซต์ควรคำนึงถึงหลายเรื่อง เป็นต้นว่า สิ่งที่ผู้ให้บริการให้ บริการหลังการขาย ค่าใช้จ่าย ความเร็วที่ผู้เข้าชมเว็บจะสามารถเปิดไฟล์เอกสารได้ ฯลฯ

    ๓. ดูภาพรวม

    ๔. ดูรายละเอียด - สนใจรายละเอียดบางอย่าง เช่น ขนาดและจำนวนเสาเข็มที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารหลังหนึ่ง


สิ่งช่วยในการตัดสินใจ



  • กัลยาณมิตรหรือผู้มักคอยคัดค้าน เราอาจปรึกษาเขาเพื่อให้ได้มุมมองความคิดที่แตกต่าง และอาจทำให้การตัดสินใจของเราดีขึ้นด้วย คืออาศัยเขาเป็นสติภายนอกอีกชั้นหนึ่ง

  • หาเทคนิคที่ช่วยในการตัดสินใจหรือหาคำตอบ เช่น การถามคำถามถอยหลัง เป็นต้น

  • เครื่องมือที่ช่วยในการตัดสินใจควรมีให้พร้อม และเรียนรู้ในการใช้เครื่องมือให้ชำนาญ ให้รู้และแก้ไขข้อจำกัด เครื่องมือเพียงชิ้นเดียวอาจไม่สามารถพึ่งพาได้ในทุกกรณี จึงควรมีเครื่องมือสำรอง และพร้อมแก้ไขหรือตัดสินใจแม้จะไม่มีเครื่องมือใด ๆ เลย


การป้องกันไม่ให้ตัดสินใจผิดพลาดหรือไม่ก้าวหน้า



  • พื้นฐานที่สุดคือมีสติอยู่กับปัจจุบัน รู้ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นผ่านทางอายตนะ เช่น ใช้ตาดูให้ดี เป็นต้น  เพื่อระวังไม่ให้ลงมือทำอะไรตามประสบการณ์เดิม

  • มีหลักในการตัดสินใจ ก่อนที่จะลงมือทำเรื่องใด ๆ

  • เพื่อป้องกันที่จะไม่ตัดสินใจผิดพลาด  ถ้าเป็นไปได้ ควรหลีกเลี่ยงการตัดสินใจในสถานการณ์ต่อไปนี้

    ๑. รีบเร่ง

    ๒. ฉุกละหุก ทันทีทันใด

    ๓. เกิดอารมณ์ เช่น เกิดความอยาก ความต้องการ ความโกรธ ความสนใจใคร่รู้ ความกลัว ความกังวล ฯลฯ

    ปกติแล้วเราสามารถเลื่อนการตัดสินใจไปได้ แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็น่าที่จะทำใจให้สงบ พิจารณาด้านต่าง ๆ ให้รอบคอบ ว่าจะมีผลกระทบอะไรบ้าง

  • เมื่อเขายื่นข้อเสนอหรือให้ความเห็นที่กระตุ้นให้เราตัดสินใจทันทีหรืออย่างรวดเร็ว เราควรยืดเวลาออกไป และตัดสินใจขณะที่ใจสงบ ไม่มีอะไรมากระตุ้นเร่งเร้า

  • บางครั้งเราเองต่างหากที่เร่งรัดตัวเอง เมื่อยังไม่มีตัวเลือกที่เป็นที่พอใจ แล้วเราพยายามจะเร่งรัดตัดสินใจให้จบ ๆ ไป จะทำให้เครียดเสียเปล่า ๆ เมื่อยังไม่ได้สิ่งที่ดีที่ต้องการที่หมดจด ก็อาจจะยังไม่ตัดสินใจ เลื่อนไปก่อน กลับไปตั้งหลักก่อน ยังตัดสินใจไม่ได้ ก็ไม่ควรต้องรีบร้อน

  • ในหลายกรณี มองอย่างผิวเผินเราควรจะต้องรีบตัดสินใจ เตรียม หรือทำ เพราะคิดว่าในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงยากทำยาก  แต่ในความเป็นจริงทุกสิ่งอนิจจัง สิ่งที่เราเตรียมอาจจะไม่ได้ใช้หรือไม่เหมาะกับการใช้งาน มีปัญหาเมื่อถึงเวลานั้น  เราจึงควรใจเย็น ๆ ศึกษาให้รู้รายละเอียดให้รู้วิธีการ อาจจะพบว่า การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงภายหลังไม่ใช่เรื่องยากอะไร แต่จะเป็นการดีถ้าเราเห็นภาพคร่าว ๆ ว่าเราจะเปลี่ยนแปลงอะไรในอนาคตแล้วให้พร้อมและเว้นที่ไว้สำหรับการเปลี่ยนแปลงนั้น ก็จะเป็นการดี

  • โดยธรรมดา สิ่งต่าง ๆ บนโลกนี้ มักจะมีตำหนิหรือความไม่สมบูรณ์  หากแต่ตำหนินั้นไม่สมควรที่จะปล่อยผ่านไป ควรทักท้วง แก้ไข แต่เนิ่น ๆ จะดำเนินการเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ง่าย  อีกนัยหนึ่งคือควรตรวจสอบในตอนต้น เกี่ยวกับวิธีคิดวิธีทำงานของเขา ว่ามีลักษณะที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายหรือไม่

  • การตัดสินใจผิดพลาด อาจจะเกิดจากการงง ไม่รู้ทิศรู้ทาง ...

  • สิ่งที่เราทำไปเพื่อป้องกันความผิดพลาดเสียหาย อาจจะยังไม่สามารถป้องกันได้ เพราะมาตรการที่เราได้ทำนั้นยังอ่อนเกินไป หรือไม่ครอบคลุมจุดที่ปัญหาเกิด


  • เมื่อเกิดความคิดขึ้นว่าจะต้องอย่างนั้นอย่างนี้ หรือเกิดความคิดชั่วแล่น (Flash ideas) ควรตรวจสอบความแตกต่างระหว่างทางเลือกที่มี ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลง และผลกระทบหลังจากเลือกทางเลือกที่ต้องการ  บ่อยครั้งที่การตัดสินใจลักษณะนี้นำมาซึ่งปัญหา การหลงทาง การเสียทรัพย์สิน การเสียความสัมพันธ์ หรือความเสียหายอื่น ๆ




  • ตื่นตัวต่อความเสียง สัญญาณของปัญหา หรือการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่เกิดขึ้น รับรู้และมองให้เห็นว่าเหตุการณ์นั้นอาจจะส่งผลกระทบอะไรบ้าง หรือคาดเดาว่าอาจจะมีอะไรที่เลวร้ายเกิดขึ้นได้บ้าง  แล้วลงมือป้องกัน ซึ่งสิ่งที่คาดเดาอาจจะเกิดหรือไม่เกิดขึ้นจริงก็เป็นได้




  • ไม่ประมาท ไม่ลืมนึกถึงเรื่องที่เกี่ยวข้อง และระวังเป็นพิเศษ พูดน้อย เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนที่อาจมีความเสียหายเกิดขึ้น ซึ่งได้กล่าวไว้แล้วในเรื่องของข้อควรระวังในขั้นตอนการวางแผน




  • ก่อนที่จะลงมือทำ ควรตรวจสอบความคิด และทดลองดูก่อน ว่าทุกอย่างจะเป็นไปอย่างที่วาดไว้ หรือถ้าเรื่องนั้นจะไม่ประสบความสำเร็จ เช่น เกิดจากอุปสรรคในงาน ความไม่คุ้มค่า หรือความไม่ถนัดในงานนั้น  เราจะทำอย่างไร?




  • ไม่เชื่อในสมมุติฐาน เพราะอาจจะมีสาเหตุอื่นอีกที่มีส่วนทำให้ปัญหาเกิด  จึงควรไม่ประมาท




  • ไม่นิ่งเฉยปล่อยเลยตามเลย เพียงเพราะเห็นแก่ความอาวุโสของสมาชิกในกลุ่ม แต่ควรตื่นตัว วิเคราะห์ถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ในทุกครั้งก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลง และรีบทักท้วงในทันทีอย่างสุภาพเหมาะสม




  • ให้รู้ นัดหมาย และเตรียมพร้อม




  • ตัดสินใจด้วยตนเอง แม้เทวดาทักท้วง  เพราะการทักท้วงนั้นเป็นไปได้หลายอย่าง เช่น ๑) เพื่อทดสอบความมั่นคงในการตัดสินใจ  ๒) ชมเชยหรือบอกว่าสิ่งที่กำลังทำนั้นดีแล้ว  ๓) ด้วยท่านรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าและช่วยไม่ให้เดือดร้อน  ๔) บอกว่ามีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าคือให้เราใจเย็น ๆ  ๕) บอกว่าสิ่งที่กำลังทำหรือพูดนั้นไม่ดีไม่ถูกต้องหรือไม่ได้สร้างคุณค่า  ๕) เพื่อขัดขวางไม่ให้ได้สิ่งที่ดี  หรือด้วยเหตุผลอื่น ๆ




  • ไม่หวั่นไหวหรือหยุดดำเนินโครงการที่เป็นความก้าวหน้า เพียงเพราะคำพูดของคนผู้มีความเห็นต่าง




  • ขยันอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้มาซึ่งความสำเร็จ




  • ลดความดื้อและการถือตัว




  • เว้นพื้นที่ (Space) ให้เพียงพอสำหรับการทำกิจกรรม




  • มีใจเป็นกลาง ๆ มองให้เห็นพระไตรลักษณ์ในสิ่งต่าง ๆ




การตัดสินใจซื้อสินค้า



  • ก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าที่สำคัญและราคาแพงหรือจำนวนมาก ควรสำรวจหลาย ๆ ร้าน เพื่อที่จะสามารถเปรียบเทียบได้

  • อย่าตามใจผู้ขาย ไม่เชื่อคำแนะนำของผู้ขายเสียทีเดียว เช่นว่าสินค้าชนิดนี้ดีกว่าชนิดนั้น อาจจะไม่จริงตามนั้น อย่าพูดว่า "อันไหนก็ได้" เพราะสินค้าที่ทำมาจากวัสดุต่างกัน มักจะคุณภาพต่างกัน  เขามักจะไม่ได้ตั้งใจโกหก หากแต่คนเราเข้าใจคลาดเคลื่อนกันได้ อย่าได้ถือสากันเลย สิ่งที่ควรทำคือลูกค้าคิดเอง เลือกเอง ไม่ตามใจคนขาย จะได้ไม่ต้องเสียเงินไปกับสินค้าที่ใช้งานไม่ได้


หลังจากตัดสินใจ



  • ที่สำคัญไม่แพ้การตัดสินใจอันดีเลิศ คือกระบวนการทำให้เสร็จสิ้นตั้งแต่ต้นจนจบงาน มีข้อปลีกย่อยแล้วแต่งาน เป็นต้นว่าการจัดซื้อสิ่งของอาจจะมีกิจกรรมย่อย ดังนี้ การวางแผนระบุรายละเอียดของสิ่งที่ต้องการ  การตรวจสอบการเข้ากันได้ของสิ่งของต่าง ๆ ที่จะจัดซื้อมาประกอบรวมกัน  การเลือกสถานที่ ช่องทาง หรือคนที่เราจะไปติดต่อ  และการใช้ไหวพริบแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

  • เมื่อตัดสินใจเสร็จสิ้นแล้ว ควรนำจิตกลับสู่ที่อยู่ของจิตคือมีสติรู้ปัจจุบันและดูแลตรวจสอบสิ่งที่รับผิดชอบดูแล


การไม่โทษคนอื่นและไม่ซ้ำเติมใคร



  • ใครตัดสินใจอะไร ต้องรับผลเอง จะโทษคนอื่นไม่ได้

  • คนที่ตัดสินใจผิดพลาด แล้วปรับปรุงแก้ไข ดีกว่า คนที่ไม่เคยตัดสินใจทำอะไรเลย


ความรัก



  • กับเรื่องความรัก จะเหมือนกับเพลงหรือเปล่านะ “ไม่ต้องมีเหตุผล ถ้าคนจะรักกัน!!!”


ไอวี่จัง

ที่อยู่ของจิต


จิตที่ไม่สับสนจะรู้ที่อยู่ และรู้จักไปตามที่ต่าง ๆ


จุดที่จิตไปก็คือจุดที่เราให้ความสนใจ ใส่ใจ จดจ่อ ในขณะหนึ่ง ๆ


เรื่องที่อยู่ของจิตนี้เกี่ยวกับมิติของการจดจ่อของจิต


มิติที่ว่ามีหลายรูปแบบ ซึ่งไม่ได้ระบุเจาะจงว่าจะต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น  แต่ลองดูตัวอย่างรูปแบบของจิตรูปแบบหนึ่ง ตามกิจกรรมที่ทำ ดังนี้คือ


เริ่มต้นวันใหม่


๑. รู้เป้าหมายต่าง ๆ โดยเฉพาะ นัดหมาย และงานที่จะทำให้เสร็จในวันนี้

๒. ดูแลผู้ที่อยู่ในความรับผิดชอบ


ขณะเดิน


๑. จิตอยู่ที่เหตุการณ์ปัจจุบันใกล้ตัวที่ผ่านทางอายตนะ

๒. สนับสนุนด้วยคำสอนของพุทธองค์ ๓ ข้อ ได้แก่ ละชั่ว ทำดี และทำจิตให้ผ่องใส

๓. เรียกใช้ความรู้ที่เคยเรียน ทันทีเมื่อพบกับปัญหา เช่น เกี่ยวกับราคะก็เรียก รู้-หยุด-เปลี่ยน เป็นต้น


ขณะทำงาน


๑. จัดการกับการรบกวน เช่น การป้องกัน และขจัดออกไป

๒. ทำงาน

ไอวี่จัง

เก้าอี้สี่ขา


เก้าอี้สี่ขาเป็นหลักการตัดสินใจอย่างง่ายที่ใช้ก่อนพูดก่อนทำ


โดยทั่วไป การพูดหรือทำที่ผ่านการคำนึงถึงขาทั้งสี่ จะเป็นกระบวนการที่ผ่านสติและปัญญา


หลักนี้อาจจะนำไปใช้แก้ปัญหาเกี่ยวกับคนหรือบริหารโครงการ รวมทั้งใช้ในชีวิตประจำวัน


ขาที่ ๑ นึกถึงเรา (First Party)


นึกถึงใจเราตัวเรา ในเรื่องต่าง ๆ เช่น ความคิด ความรู้สึก ความพร้อม ความรู้ ความสามารถ ผลงาน อุปนิสัย วิบากกรรม ทัศนคติ ความเชื่อ ทฤษฎี หรือแผนใด ๆ ที่เรามี รวมทั้งผลกระทบต่าง ๆ ทั้งที่ได้เกิดขึ้นแล้วและกำลังอาจจะเกิดขึ้น


นอกจากนั้น ก่อนการตัดสินใจควรต้องคำนึงถึงหากตกลงทำสิ่งใด เช่น ภาระค่าใช้จ่าย ความคล่องตัว ความอิสระ และปัญหาอื่น ๆ ที่เกิดจากสิ่งที่รับเข้ามา  สิ่งที่รับเข้ามาอาจจะเป็นคนที่รับเข้ามาอยู่ในความรับผิดชอบดูแล หรือชิ้นงาน


ขาที่ ๒ นึกถึงเขา (Second Party)


คำนึงถึงใจเขาตัวเขา ซึ่งเป็นอีกฝ่ายหนึ่งที่เราจะพูดด้วย หรือทำอะไรแล้วมีผลโดยตรงกับเขา


ควรนึกถึงเขา ในเรื่องต่าง ๆ เช่น ความคิด ความรู้สึก ความพร้อม ความรู้ ความสามารถ ผลงาน อุปนิสัย วิบากกรรม ทัศนคติ ความเชื่อ ทฤษฎี หรือแผนใด ๆ ที่เขามี รวมทั้งผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดกับเขา


ขาที่ ๓ นึกถึงคนอื่น (Third Party)


คำนึงถึงบุคคลที่สาม ซึ่งเขาจะอยู่ในเหตุการณ์หรือไม่ก็ตาม


ควรนึกถึงเขา ในเรื่องต่าง ๆ เช่น ความคิด ความรู้สึก อุปนิสัย วิบากกรรม ทัศนคติ ความเชื่อ รวมทั้งผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดกับเขา


ขาที่ ๔ นึกถึงสิ่งอื่น (Others)


คำนึงถึงสิ่งอื่น ๆ นอกเหนือจากสามขาข้างต้น ได้แก่ งบประมาณ ชีวิตสัตว์ และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น


ข้อจำกัด


อย่างไรก็ตาม เรื่องเก้าอี้สี่ขาก็เหมือนความคิดเห็นอื่นที่ได้เคยกล่าวไว้ทั้งหมด ว่าไม่สามารถใช้ได้กับทุกสถานการณ์ จึงไม่เหมาะที่จะยึดเป็นนิสัย

Page : 1
Webboardแสดงความคิดเห็น
เยี่ยม   แย่   แย่   แย่   เขิน   หยอกล้อ  ตกใจ  ร้องไห้   สงสัย   ขอโทษ   หดหู่   อย่าน่ะ   ต่อว่า   โอเค
รูปภาพ
(นามสกุลไฟล์ควรเป็น [ jpg , jpeg , gif ] และไฟล์ไม่เกิน 3 MB.)
*ชื่อ
*สถานะ  
*อีเมล
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
*รหัสยืนยัน

หมายเหตุ : : กรุณากรอกข้อมูลที่มี * ทุกช่อง

view