การตีความ กฎหมายไทย

การตีความ กฎหมายไทย

นายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ

ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอาญา

อดีต

อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา

ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา ที่ปรึกษาคณะกรรมการพิจารณาศึกษา

ร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่จะเสนอต่อวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๔๒

ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์คณะกรรมการการปกครองสภาผู้แทนราษฎร ผู้สอนกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

และวิชาการเขียนและค้นคว้าในทางกฎหมาย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต

 

 

 

คำนำ

 

แรงบันดาลใจที่ทำให้ผู้เขียนเขียนหนังสือเรื่องการตีความกฎหมายไทย เนื่องมาจากผู้เขียนเป็นนักศึกษากฎหมายคนหนึ่ง และโชคดีที่มีโอกาสได้เข้ารับราชการเป็นข้าราชการตุลาการ มีอำนาจหน้าที่พิจารณาพิพากษาอรรถคดี ได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวนานเป็นเวลากว่า ๓๐ ปี และยังมีโอกาสได้ดำรงตำแหน่งในทางบริหารศาลทั้งศาลในต่างจังหวัด และศาลชั้นต้นในกรุงเทพมหานคร ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เป็นกรรมการ และอนุกรรมการยกร่างกฎหมาย แก้ไขกฎหมาย นอกจากนี้ยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการแแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่จะเสนอต่อวุฒิสภา เป็นที่ปรึกษากิตติมศักด์คณะกรรมาธิการการปกครองสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้สอนกฎหมายวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และวิชาการเขียนและการค้นคว้าในทางกฎหมาย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต

 

>การปฏิบัติหน้าที่ต่างๆดังกล่าวล้วนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการตีความทั้งสิ้น ซึ่งมีทั้งการตีความกฎหมาย ตีความสัญญา และตีความเอกสารอื่นๆที่คู่ความยกขึ้นเป็นประเด็นข้อพิพาท และประเด็นแห่งคดีในศาล และยังได้เข้าร่วมประชุมในการประชุมใหญ่ในศาลฎีกา ร่วมประชุมคณะกรรมการต่างๆ ได้ฟังการอภิปรายในปัญหาข้อกฎหมายมานับจำนวนครั้งไม่ถ้วน นอกจากนี้ยังได้ติดตามอ่านคำวินิจฉัยในคำพิพากษาศาลฎีกา และองค์กรต่างๆของรัฐ เช่นศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ทำให้เกิดความรู้สึกว่าที่บ้านเมืองของเรามีปัญหาวุ่นวายสับสน ในการดำเนินกิจการต่างๆ รวมทั้งการเป็นคดีความในศาล และการบริหารราชการแผ่นดินนั้นส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากเรื่องการตีความกฎหมาย และการตีความเอกสารสัญญาต่างๆ ผู้มีอำนาจตีความต่างตีความตามความคิดเห็นของตนเอง บางครั้งอ้างว่าตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เจตนารมณ์ของผู้ร่างกฎหมาย ไม่ได้อ้างอิงหลักกฎหมายเกี่ยวกับการตีความ หลักวิชาภาษาไทย วิชาไวยากรณ์ไทย ทั้งๆที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรด้วยถ้อยคำที่เป็นภาษาไทย และภาษาราชการ นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการบางท่านอ้างเหตุผลว่า ต้นฉบับกฎหมายเรื่องนี้ที่เขียนเป็นภาษาต่างประเทศตีความว่าอย่างนี้ หรือหมายความว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ทำให้ผู้เขียนอดคิดไม่ได้ว่าประเทศของเราตกเป็นเมืองขึ้นทางภาษาของต่างประเทศหรืออย่างไร เราไม่มีเอกราชในทางภาษาหรือ บรรพบุรุษของเราไม่ได้สร้างภาษาไทยไว้ให้พวกเราเอาไว้สื่อความหมายที่ถูกต้องแท้จริงกันได้หรืออย่างไรจึงต้องไปอ้างอิงภาษาต่างประเทศ เมื่อได้ค้นคว้าอย่างจริงจังในทุกด้านแล้วหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ แต่เป็นเพราะการเรียนการสอนหนังสือของเราไม่ได้พยายามที่จะสอนหลักภาษาและวิชาไวยากรณ์ไทย และไม่ได้บอกคำนิยามความหมายของถ้อยคำต่างๆที่เป็นภาษาราชการให้ผู้เรียน ผู้ศึกษาทราบ เท่านั้นยังไม่พอครู อาจารย์ ผู้สอนยังพูดภาษาไทยปนภาษาอังกฤษในการสอนวิชาการต่างๆอีกด้วย เมื่อค้นพบเหตุผลดังกล่าวนี้ผู้เขียนได้พยายามที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการเริ่มรณรงค์ให้ข้าราชการตุลาการใช้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานในการเขียนและอ่านหนังสือราชการ ซึ่งปรากฏว่าค่อยๆเป็นที่ยอมรับขึ้นมาในระดับหนึ่ง คำพิพากษาศาลฎีกาเริ่มอ้างคำนิยามความหมายของถ้อยคำตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานหนาตาขึ้น

 

สำหรับผู้เขียนเมื่อค้นพบวิธีอ่านและตีความกฎหมายโดยอาศัยพจนานุกรมเป็นเครื่องมือแล้วทำให้อ่านกฎหมายแล้วสามารถเข้าใจได้โดยง่ายแทบจะไม่ต้องเปิดดูคำพิพากษาศาลฎีกาเลย เมื่อปฏิบัติได้ผลมาเป็นเวลานานจึงมึความคิดว่าควรจะได้รวบรวมเขียนขึ้นเพื่อเผยแพร่วิธีการของผู้เขียน และเพื่อให้ได้มีการโต้แย้งกันทางวิชาการ ซึ่งในที่สุดคงจะได้ข้อยุติอันจะยังประโยชน์ในการตีความกฎหมายของเราให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ความสงบร่มเย็นคงจะมาสู่ประเทศชาติ และสังคมไทยเรามากขึ้น เสียงว่ากล่าวด่าทอกันในทางการเมืองเพราะมีความเข้าใจภาษาต่างกันคงจะลดลงไปบ้างไม่มากก็น้อย ด้วยสาเหตุต่างๆเหล่านี้เป็นเหตุให้ผู้เขียนได้พยายามเขียนบทความนี้ขึ้นมา

 

ผู้เขียนหวังว่าผู้อ่านโดยเฉพาะที่เป็นนักกฎหมาย นักวิชาการ นักการเมืองจะได้ช่วยกันแสดงความเห็นส่งมาที่ผู้เขียนเพื่อจะได้แก้ไขเพิ่มเติมบทความนี้ให้ถูกต้องสมบูรณ์ต่อไป และอาจจะเป็นการจุดประกายความคิดให้ได้มีการบัญญัติกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ในการตีความกฎหมายให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ

 

(นายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ)

ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอาญา

ศาลอาญา ๕๔๑–๒๒๒๕

มือถือ (๐๑) ๖๕๙–๐๘๘๕

 

 

การตีความกฎหมายไทย

โดย นายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ

 

ปัญหาเรื่องการตีความกฎหมาย เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในการบังคับใช้กฎหมาย หากตีความไม่ถูกต้องตามความมุ่งหมาย หรือ เจตนารมณ์ของกฎหมาย ก็จะพาให้การบังคับใช้กฎหมายเกิดผลในทางตรงกันข้าม คดีความที่ควรชนะกลับเป็นแพ้ ที่ควรแพ้กลับเป็นชนะ ผู้ที่ไม่มีอำนาจเข้าใจว่าตนมีอำนาจแล้วใช้อำนาจนั้นเป็นเหตุให้กระทบกระเทือนสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ผู้ที่มีหน้าที่ไม่ทราบว่าตนมีหน้าที่ ซึ่งอาจเกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติ หรือ แก่ตัวบุคคลได้อย่างมากมาย

 

ในส่วนความเสียหายแก่ประเทศชาติ ในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งเป็นยุคที่ประชาคมโลกไม่ว่าจะอยู่ ณ จุดใด สามารถรับรู้ สัมพันธ์ หรือรับผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง อันเนื่องมาจากการพัฒนาระบบสารสนเทศ หรือระบบการแสดงชี้แจงข่าวสารข้อมูลต่างๆ อาจมีผลทำให้คณะรัฐมนตรี หรือ รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่ง ต้องพ้นจากตำแหน่ง การบริหารราชการแผ่นดินเกิดความขัดข้องติดขัด ไม่สามารถดำเนินกิจการงานต่างๆให้เกิดประโยชน์แก่รัฐ หรือ ประชาชนได้โดยรวดเร็วทันต่อสถานการณ์บ้านเมือง ไม่สามารถเปิดประชุมวุฒิสภา หรือสภาผู้แทนราษฎรได้ ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะการจัดการเลือกตั้งยังไม่เสร็จสิ้น.

นอกจากนี้หากตีความให้องค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มิใช่ศาลมีอำนาจตุลาการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ในกรณีที่มีการกล่าวหาว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งกระทำผิดกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งได้หลายครั้ง โดยไม่ได้ดำเนินการให้มีการดำเนินคดีในศาลตาม มาตรา ๓๒๗ (๕) แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ รัฐอาจต้องเสียงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งก็ถือว่าเป็นเงินของปวงชนชาวไทยนั้นเองโดยไม่จำเป็นอีกด้วย เพราะเรื่องการเลือกตั้งที่มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม กับเรื่องการกระทำผิด หรือกระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯ ของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นคนละเรื่องกันสามารถแยกออกจากกันได้อย่างชัดเจน.

 

สำหรับ ความเสียหายส่วนบุคคล อาจมีผลถึงกับ ต้องสิ้นชีวิต, สิ้นอิสรภาพ, เสื่อมเสียชื่อเสียงเกียรติยศ, สิ้นอำนาจ, สิ้นสิทธิต่างๆที่จะพึงมีพึงได้ตามกฎหมาย, สูญเสียตำแหน่ง, สูญเสียทรัพย์สิน, หรือ ต้องตกเป็นบุคคลล้มละลาย ทั้งที่ความจริงไม่ควรจะได้รับผลเช่นนั้น และถ้าเป็นเช่นนั้นกฎหมายจะกลายเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม และทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองเสียเอง ดังนั้น จึงต้องทำความเข้าใจเรื่องการตีความให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดว่า การตีความคืออะไร มีหลักเกณฑ์อย่างไร และมีวิธีการอย่างไร.

 

ผู้เขียนเห็นว่า การที่เราจะทำการงานเกี่ยวกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม เราควรจะต้องทราบว่าสิ่งนั้นคืออะไร ยิ่งทราบละเอียดลึกซึ้งเท่าใดยิ่งมีประโยชน์ในการงานนั้นๆมากเท่านั้น เมื่อเราจะตีความกฎหมาย เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องทราบว่า กฎหมายคืออะไร

 

การตอบคำถามนี้ผู้เขียนไม่ได้คิดขึ้นเอง และไม่ได้เอามาจากคำสอนของอาจารย์สอนกฎหมายคนใด แต่ได้ค้นพบจากหนังสือตำราที่ถือได้ว่าเป็นหนังสือที่ทางราชการกำหนดให้ใช้อ้างอิงได้ และได้ออกประกาศให้บรรดาหน่วยงานราชการทุกกระทรวงทบวงกรม และการศึกษาเล่าเรียนทางโรงเรียนโรงเรียนถือปฏิบัติ ได้แก่ หนังสือพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ซึ่งเป็นหนังสือที่ราชบัณฑิตยสถานได้จัดทำไว้ตามคำสั่งของรัฐบาล ทั้งนี้ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการใช้ตัวสะกด ฉบับลงวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๒๖ หนังสือดังกล่าวกำหนดคำนิยามความหมายของคำว่า กฎหมายไว้ว่า

 

“กฎหมาย” (กฎ) น. บทบัญญัติซึ่งผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศได้ตราขึ้นไว้เพื่อใช้ในการบริหารบ้านเมือง และบังคับบุคคลในความสัมพันธ์ระหว่างกัน ผู้ใดฝ่าฝืนต้องได้รับโทษ หรือต้องถูกบังคับให้ปฏิบัติตาม (ฉบับพิมพ์ครั้งที่๑)

 

ตามคำนิยามดังกล่าวถ้าเราหยิบยกเอาถ้อยคำแต่ละคำขึ้นมาพิจารณาจะเห็นว่า ราชบัณฑิตได้ให้คำนิยามคำว่า “กฎหมาย” ไว้อย่างละเอียดถี่ถ้วนทุกแง่มุม ซึ่งผู้เขียนจะหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงไว้พอเป็นสังเขปเพื่อประโยชน์ในการที่จะนำมาพิจารณาเกี่ยวกับการตีความ กฎหมายต่อไป.

 

๑. กฎหมายเป็นบทบัญญัติ

“บทบัญญัติ” หมายความว่า (กฎ) น. ข้อความที่กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในกฎหมาย.

จากคำนิยามดังกล่าวทำให้เราได้ความรู้ต่อไปอีกว่า กฎหมายของประเทศไทยเรานั้นต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร คือต้องทำเป็นตัวหนังสือ.

 

๒. ผู้ที่มีอำนาจตรากฎหมายจะต้องเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในประเทศเท่านั้น.

เนื่องจากประเทศไทยในอดีตมีการปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อันเป็นระบอบการปกครองซึ่งพระมหากษัตริย์มีอำนาจสิทธิขาดในการบริหารประเทศ อำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว พระราชโองการ หรือพระบรมราชโองการ เป็นคำศักดิสิทธิ์มาจากพระดำรัสสั่งของพระมหากษัตริย์ ถือเป็นกฎหมาย และยังมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมาย

ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ หลังจากนั้นได้มีการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินโดยคณะบุคคลที่เรียกชื่อต่างๆกันอีกหลายครั้ง เช่น คณะปฏิวัติ คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ เป็นต้น คณะบุคคลเหล่านี้เมื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินได้แล้ว ได้ประกาศยกเลิก รัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น แล้วออกประกาศคำสั่งของคณะบุคคลที่เรียกชื่อต่างๆเหล่านั้นออกมาใช้บังคับเป็นกฎหมาย และมีการยอมรับกันเป็นกฎหมายจนบัดนี้ยังคงใช้เป็นกฎหมายอยู่ ทั้งรัฐบาล และศาลก็ยังถือว่าเป็นกฎหมายและบังคับบัญชาให้ เช่น ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ เรื่องแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ เป็นต้น ที่มาของกฎหมายไทยจึงไม่เหมือนกับประเทศอื่น ซึ่งผู้เขียนได้รวบรวมผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศที่มีอำนาจตรากฎหมายได้ ๖ สถาบันได้แก่

๑. พระมหากษัตริย์. หรือพระเจ้าแผ่นดิน หมายถึงผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน พระบรมราชโองการมีผลเป็นกฎหมาย.

๒. คณะรัฐประหาร คณะปฏิวัติ หรือคณะบุคคลที่เรียกชื่อย่างอื่น. คณะบุคคลดังกล่าวคือคณะบุคลที่ใช้กำลังยึดอำนาจการปกครองและเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ประกาศของคณะปฏิวัติมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย (เริ่มมีการปฏิวัติหรือรัฐประหารครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕) ประกาศของคณะปฏิวัติหลายฉบับยังมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายอยู่ในปัจจุบันนี้.

๓. สภาผู้แทนราษฎร. ( ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ มีสภาผู้แทนราษฎรสภาเดียวยังไม่มี วุฒิสภา)

๔. รัฐสภา. (รัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๙๒)

๕. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้มีสภานิติบัญญัติสภาเดียว (ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรพุทธศักราช ๒๕๓๔ กำหนดให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา จัดทำร่างรัฐธรรมนูญ)

๖. คณะรัฐมนตรี. (รัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๒๑๘ ให้อำนาจคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร ตราพระราชกำหนดใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติ)

 

ถ้าเราสังเกตให้ดีจะพบว่าโดยสรุปกฎหมายคือ

๑. กฎหมายเป็นกติกาของสังคม ที่มีข้อความเป็นการกำหนดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในเรื่องที่เกี่ยวกับ สถานภาพ อำนาจ สิทธิ หน้าที่ ความรับผิด และ ความรับผิดชอบต่อตำแหน่งหน้าที่ ตามกฎหมายของบุคคล.

 

๒. กฎหมายแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภทคือ

(๑) กฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน (กฎหมายปกครอง)

(๒)กฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อบังคับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (กฎหมายเอกชน) (ไม่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน)

 

(๑) กฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน (กฎหมายปกครอง)

การบริหารงานทุกประเภทจะต้องมีการสั่งการ การติดตามผลงาน การควบคุมดูแล ซึ่งจะต้องใช้อำนาจบังคับบัญชาเพื่อให้การงานบรรลุผล กฎหมายที่ใช้ในการบริหารจัดการจึงต้องให้อำนาจแก่ผู้มีหน้าที่บริหาร กฎหมายประเภทนี้จึงแบ่งบุคลออกเป็นสองฝ่ายคือ

ก. ฝ่ายที่เป็นผู้บริหาร หรือผู้ปกครอง

ข. ฝ่ายที่เป็นสามัญชน (ฝ่ายที่ถูกบริหาร หรือถูกปกครอง)

 

ก. ฝ่ายที่เป็นผู้บริหาร กฎหมายปกครองจะกำหนดให้ผู้บริหารมีอำนาจบริหาร โดยกฎหมายปกครองจะมีองค์ประกอบที่สำคัญ ๕ ข้อ คือ

(๑) สถาบัน คือสิ่งซึ่งทางราชการ หรือสังคมจัดตั้งให้มีขึ้นเพราะเห็นประโยชน์ว่ามีความต้องการ และจำเป็นแก่วิถีชีวิตของคนในสังคม สถาบันในที่นี้หมายความถึงสถาบัน หรือองค์กรซึ่งใช้เป็นสถานที่ทำงานของบุคคลที่มาทำหน้าที่บริหาร เช่น กระทรวงมหาดไทย

(๒) ตำแหน่ง หมายความถึง ฐานะ หรือหน้าที่การงานของบุคคล ในที่นี้หมายความถึงหน้าที่การงานของบุคคลที่ทำงานในสถาบันนั้นๆ เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

(๓) อำนาจ หมายความถึงอิทธิพลที่จะบังคับให้บุคคลอื่นต้องยอมทำตามไม่ว่าจะสมัครใจหรือไม่ก็ตาม อำนาจในที่นี้หมายถึงอำนาจโดยรวมของสถาบัน และอำนาจประจำตำแหน่งหน้าที่การงานต่างๆ (อำนาจเป็นเรื่องที่กฎหมายบัญญัติให้มีอำนาจไว้โดยชัดแจ้ง)

(๔) หน้าที่ หมายความว่า กิจที่จะต้องทำ กิจที่ควรทำ วงแห่งกิจการ ในที่นี้หมายความถึงหน้าที่ของบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งแต่ละตำแหน่ง เช่นตำรวจมีหน้าที่จับกุม ปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมาย พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๕ บัญญัติให้ประธานศาลฎีกามีหน้าที่วางระเบียบราชการฝ่ายตุลาการของศาลยุติธรรม เพื่อให้กิจการของศาลยุติธรรมดำเนินไปโดยเรียบร้อยและเป็นระเบียบเดียวกัน (กฎหมายจะต้องบัญญัติไว้โดยชัดแจ้ง)

(๕) ความรับผิดชอบต่อตำแหน่งหน้าที่ รับผิดชอบหมายถึง ยอมตามผลที่ดีหรือไม่ดีในกิจการที่ได้กระทำไป คือทำดีก็ได้รับความดีความชอบได้รับเงินเดือนเพิ่ม ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทำไม่ดีหรือทำไม่ชอบอาจได้รับโทษทางวินัย หรือโทษทางอาญาตามกฎหมายอาญา (กฎหมายทุกฉบับจะระบุไว้ว่าผู้มีตำแหน่งหน้าที่จะต้องรับผิดชอบในหน้าที่ เช่น พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๑๑ กำหนดให้ประธานศาลฎีกาต้องรับผิดชอบในงานของศาลฎีกาให้เป็นไปโดยเรียบร้อย)

 

ข. ฝ่ายที่เป็นสามัญชน กฎหมายจะกำหนดให้สามัญชนมีแต่สิทธิ หน้าที่ และ ความรับผิดตามกฎหมาย ไม่ได้บัญญัติสามัญชน หรือบุคคลธรรมดามีอำนาจบังคับบัญชา หรือบังคับบุคคลอื่น ให้จำต้องกระทำตามที่ตนต้องการ หากต้องการจะบังคับจะต้องไปดำเนินการขอให้ผู้มีอำนาจบังคับให้ ความเป็นสามัญชนมีองค์ประกอบ ๔ ข้อ คือ

๑. สถานภาพ คือฐานะความเป็นอยู่ของบุคคลในสังคม เช่น ทารกในครรภ์มารดา ผู้เยาว์ สามี ภรรยา ผู้ไร้ความสามารถ ผู้เสมือนไร้ความสามารถ คนสาบสูญ ฯ

>๒. สิทธิ ความสามารถในการที่จะกระทำการใดๆได้อย่างอิสระโดยมีกฎหมายรับรอง โดยไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น

สิทธิของบุคคลมีหลายสิทธิ ได้แก่ สิทธิ์ในชีวิตร่างกาย สิทธิ์ในชื่อเสียเกียรติยศ สิทธิในทรัพย์ และสิทธิ์อื่นๆตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด (รัฐธรรมนูญ หมวด ๓ มาตรา ๒๖-๖๕)

๓. หน้าที่ กิจที่จะต้องทำ กิจที่ควรทำ (รัฐธรรมนูญฯ หมวด ๔ มาตรา ๖๖–๗๐)

 

๔. ความรับผิดตามกฎหมาย ความมีหน้าที่ผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องชำระหนี้ หรือกระทำการ หรืองดเว้นกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง

 

(๒) กฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อบังคับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (กฎหมายเอกชน) (ไม่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน)

กฎหมายที่ใช้บังคับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล จะกำหนดระเบียบความสัมพันธ์ของบุคคล เกี่ยวกับสถานภาพของบุคคล สิทธิของบุคคล หน้าที่ของบุคคล ความรับผิดตามกฎหมายของบุคคล ได้แก่กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฎหมายอื่นที่มีลักษณะเดียวกัน (ดูเรื่ององค์ประกอบของสามัญชน)

 

๓. กฎหมายต้องมีสภาพบังคับ.

การบังคับ คือการใช้อำนาจสั่งให้ทำหรือให้ปฏิบัติ หากไม่ปฏิบัติตามจะต้องถูกลงโทษ (กฎหมายอาญา) หรืออาจถูกบังคับให้ปฏิบัติตาม (การบังคับคดีทางแพ่ง)

 

กฎหมายที่ประกาศใช้บังคับจะต้องมีข้อกำหนดสองส่วนคือ

(๑) ส่วนที่กำหนดว่าการใดเป็นความผิดกฎหมาย หรือกำหนดสิทธิและหน้าที่ และอำนาจของบุคคล (กฎหมายสารบัญญัติ)

(๒) ส่วนที่กำหนดแนวทาง หรือระเบียบวิธีการที่จะดำเนินการบังคับบุคคลที่ละเมิดต่อบทบัญญัติของกฎหมาย ให้ต้องปฏิบัติ หรือรับผลตามกฎหมาย โดยจะกำหนดอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานของรัฐ และสิทธิและหน้าที่ของบุคคลธรรมดา (กฎหมายวิธีสบัญญัติ)

 

เมื่อได้ทราบความหมายของคำว่า “กฎหมาย” ตามสมควรแล้ว ต่อไปจะได้กล่าวถึงเรื่อง การตีความกฎหมาย

เนื่องจากกฎหมายไทยบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และต้องใช้ภาษาราชการดังกล่าวแล้ว การจะทำความเข้าใจเรื่องการตีความกฎหมายว่า มีหลักเกณฑ์อย่างไร และมีวิธีตีความอย่างไร จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทราบและทำความเข้าใจเรื่องดังต่อไปนี้ตามลำดับคือ

๑. ความหมายของคำว่า “ตีความ”

๒. หลักเกณฑ์ในการตีความ

 

๑. ความหมายของคำว่า “ตีความ”

การที่เราจะตีความกฎหมายได้ เราจะต้องทราบว่าการตีความคืออะไรเสียก่อน ถ้าเราไม่ทราบความหมายของ คำว่า “ตีความ” เราอาจจะกระทำการอย่างอื่นที่ไม่เรียกว่าการตีความตามกฎหมายก็ได้ เช่น คิดเอาเองตามอำเภอใจตามความคิดเห็นของตนเองว่า น่าจะเป็นเช่นนั้น เช่นนี้ เมื่อสอบถามถึงเหตุผลที่คิดเห็นและมีคำวินิจฉัยเช่นนั้นก็ไม่สามารถอธิบายที่มาแห่งความคิดเห็นได้ตามหลักวิชาการ ซึ่งจะต้องมีที่มาที่ไป คงยกเอาเจตนารมณ์ขึ้นมาอ้าง เมื่อถามว่าเราจะไปหาเจตนารมณ์ได้ที่ไหนก็ไม่สามารถตอบคำถามได้ ดังนั้นเรื่องคำนิยามศัพท์จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่สุด เพราะจะเป็นเครื่องสื่อความหมายให้ทุกคนเข้าใจความหมายได้เป็นอย่างเดียวกัน และจะต้องเป็นคำนิยามที่ทางราชการให้การรับรองด้วย ซึ่งผู้เขียนขอนำเสนอแนวทางดังต่อไปนี้.

 

ถ้อยคำแรกที่จะต้อง ตีความ หรือ หาคำนิยามความหมาย ให้ถูกต้องตรงตามที่ทางราชการกำหนดไว้ก็คือ ความหมายของคำว่า “ตีความ” เมื่อเข้าใจคำว่า ตีความ ตรงกันแล้ว การตีความกฎหมาย หรือ นิติกรรม, สัญญา, หรือ เอกสารอื่นใด ก็จะตีความไปในแนวทางเดียวกัน ไม่เขียน หรือ พูดกันคนละภาษา ตีความคนละวิธี ซึ่งไม่อาจหาข้อยุติที่ชัดเจนได้.

 

การที่เราจะเขียน และ พูดภาษาเดียวกัน จะต้องมีหลักวิชาที่เป็นทางราชการ ที่สามารถจะหยิบยกขึ้นมาอ้างอิงเพื่อยุติข้อโต้เถียง หรือข้อขัดแย้งต่างๆได้

หนังสือตำราภาษาไทยที่ทางราชการได้จัดทำขึ้น เพื่อกำหนดคำนิยามความหมายของถ้อยคำ หรือ ข้อความ ในภาษาไทย และประกาศเป็นระเบียบให้ใช้บังคับแก่ทางราชการ และทางโรงเรียน ได้แก่ หนังสือพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ซึ่งประกาศใช้โดย ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๒๖ ความว่า

 

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี

เรื่อง ระเบียบการใช้ตัวสะกด

โดยที่ราชบัณฑิตยสถานได้จัดพิมพ์หนังสือพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ขึ้นเสร็จแล้ว เสนอว่า ควรยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ระเบียบการใช้ตัวสะกด ลงวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ แต่ทางราชการและโรงเรียนก็ยังควรมีแบบมาตรฐานสำหรับใช้ในการเขียนหนังสือไทย เพื่อให้เป็นระเบียบเดียวกันและควรใช้พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็นมาตรฐานดังกล่าว

คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาแล้วลงมติเห็นชอบด้วย

police.go.th นายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ : ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอาญา

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

* *

 

*

view