การออกหมายจับและหมายขังในคดีอาญา

การออกหมายจับและหมายขังในคดีอาญา

มติที่ประชุมร่วมของอธิบดีผู้พิพากษา เรื่อง “การออกหมายจับและหมายขังในคดีอาญา” เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2545

1. กรณีผู้ต้องหาเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนโดยที่ยังมิได้มีการออกหมายจับผู้ต้องหานั้นไว้ พนักงานสอบสวนจะควบคุมผู้นั้นได้หรือไม่

เมื่อผู้ต้องหาเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนโดยที่ยังไม่ได้มีการออกหมายจับพนักงานสอบสวนมีอำนาจแจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาได้ และโดยลำพังการแจ้งข้อหานั้นยังไม่ถือเป็นการจับ

2. ในกรณีที่มีการเข้ามอบตัวและพนักงานสอบสวนได้ควบคุมผู้ต้องหาไว้ในระหว่างสอบสวน จะต้องสอบสวนคดีให้เสร็จภายในเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 113 หรือไม่ และถ้าคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง พนักงานสอบสวนจะต้องขอผัดฟ้องต่อศาลตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงฯ มาตรา 7 หรือไม่

เมื่อพนักงานสอบสวนได้ควบคุมผู้ต้องหาไว้ในช่วงเวลา 48 ชั่วโมง พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจสั่งปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหานั้นได้ ไม่ว่าจะให้มีประกันหรือมีประกันและหลักประกันหรือไม่

2.1 สำหรับคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลอาญาหรือศาลจังหวัด หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยชั่วคราว พนักงานสอบสวนไม่ต้องนำผู้ต้องหามาร้องขอฝากขังต่อศาลในช่วงเวลาที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวแต่ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 113 แต่ถ้าผู้ต้องหาไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว พนักงานสอบสวนจะต้องร้องขอฝากขังภายในระยะเวลา 48 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ควบคุมผู้ต้องหา

2.2 คดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวง ไม่ว่าผู้ต้องหาจะได้รับการปล่อยชั่วคราวหรือไม่ พนักงานสอบสวนต้องนำผู้ต้องหามาร้องขอผัดฟ้องต่อศาลภายใน 48 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ควบคุมผู้ต้องหา ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงฯ มาตรา 7

3. ในกรณีผู้ต้องหาเข้ามอบตัวและพนักงานสอบสวนมิได้ใช้อำนาจควบคุมผู้ต้องหา

ถ้าเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลอาญาหรือศาลจังหวัดพนักงานสอบสวนไม่จำเป็นต้องร้องขอฝากขังต่อศาลภายในเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 และไม่ต้องร้องขอผัดฟ้องต่อศาลภายในกำหนดเวลาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงฯ มาตรา 7 ในกรณีที่เป็นคดีซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวง

4. เด็กที่ถูกควบคุมอยู่ในสถานพินิจ จะถือเป็นการถูกขังตาม มาตรา 237 แห่งรัฐธรรมนูญฯ หรือไม่

วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัว มิใช่มุ่งลงโทษเด็กและเยาวชนผู้กระทำความผิด แต่มุ่งบำบัด แก้ไข ฟื้นฟู และสงเคราะห์เด็กและเยาวชนที่กระทำผิดให้กลับตัวเป็นคนดี ทั้งกฎหมายยังบัญญัติสนับสนุนหลักการดังกล่าวด้วยว่า เด็กที่หลบหนีออกจากสถานพินิจฯ มิให้ถือว่ามีความผิด การควบคุมตัวเด็กและเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจึงเป็นการดำเนินการเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ดังนั้น การควบคุมตัวเด็กและเยาวชนดังกล่าวจึงไม่เป็นการขัง ที่จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 237 (1) และ (2) แต่ศาลควรใช้ดุลพินิจในการปล่อยชั่วคราวให้ยืดหยุ่นเป็นคุณแก่เด็กและเยาวชนให้มากที่สุด

police.go.th

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

* *

 

*

view