การจัดหาทนายความกรณี ผู้ต้องหาอายุไม่เกินสิบแปดปี

การจัดหาทนายความกรณี ผู้ต้องหาอายุไม่เกินสิบแปดปี

เลขเสร็จ
๔๐๐/๒๕๔๕

บันทึกข้อความ

ส่วนราชการ กลุ่มกฎหมายกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
ที่ วันที่ กรกฎาคม ๒๕๔๕

เรื่อง หน่วยงานที่หารือขอถอนเรื่อง

เรียน ท่านเลขาธิการฯ
เนื้อหา
ตามที่ท่านเลขาธิการฯ ได้มอบหมายให้กลุ่มกฎหมายกระบวนการยุติธรรม
ทางอาญารับผิดชอบนำข้อหารือของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การจัดหาทนายความกรณี
ผู้ต้องหาอายุไม่เกินสิบแปดปี เสนอคณะกรรมการกฤษฎีกา(คณะที่ ๑๑) เพื่อพิจารณา โดยมี
ประเด็นปัญหาว่า ตามมาตรา ๑๓๔ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่บัญญัติให้
"ในคดีที่ผู้ต้องหามีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา ก่อนเริ่มถามคำให้การ
ให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายความให้" นั้น
จะนำมาใช้บังคับในทุกคดีหรือไม่

เจ้าหน้าที่กลุ่มกฎหมายกระบวนการยุติธรรมทางอาญา(นางสาวนริศราฯ
นายวีระพงษ์ฯ และนายอรรถสิทธิ์ฯ) ได้นำข้อหารือดังกล่าวเสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกา
(คณะที่ ๑๑) พิจารณารวมสองครั้ง คือ ในวันพฤหัสบดี ที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๔๕ และวันจันทร์
ที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๔๕ โดยมีผู้แทนกรมการปกครอง ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทน
สำนักงานอัยการสูงสุด และผู้แทนสำนักงานศาลยุติธรรม ร่วมชี้แจงข้อเท็จจริงและรายละเอียด

ต่อมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีหนังสือ ที่ ตช ๐๐๐๔.๖/๗๒๐๖ ลงวันที่ ๑๓
มิถุนายน ๒๕๔๕ มายัง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอถอนเรื่องที่หารือดังกล่าว เนื่องจาก
ขณะนี้ได้มีการเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในประเด็นเกี่ยวกับ
การสอบสวนรวมอยู่ด้วย ดังนั้น จึงประสงค์นำเรื่องที่หารือกลับไปพิจารณาอีกครั้ง

อนึ่ง เหตุผลที่แท้จริงของการขอถอนเรื่องดังกล่าวนั้น น่าจะมีเหตุผลอยู่ว่า
ในการประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกา(คณะที่ ๑๑) ที่ประชุมโดยเสียงส่วนใหญ่มีความเห็นใน
ประเด็นเกี่ยวกับข้อหารือดังกล่าวว่า รัฐจะต้องจัดหาทนายความให้ผู้ต้องหาซึ่งมีอายุไม่เกินสิบแปด
ปีในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาตามมาตรา ๑๓๔ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ
อาญาในทุกคดี ดังนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงอาจเกรงว่า หากคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มี
ความเห็นและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้แจ้งความเห็นไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้ว อาจส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
โดยเฉพาะคดีลหุโทษหรือคดีที่มีอัตราโทษเล็กน้อย เช่น คดีจราจร เป็นต้น เพราะในทางปฏิบัติ
ปัจจุบันหากผู้ต้องหาอายุไม่เกินสิบแปดปียอมชำระค่าปรับตามที่พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบ
แล้ว จะไม่มีการจัดหาทนายความให้ ซึ่งเป็นผลให้การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจดังกล่าวไม่ชอบ
ด้วยกฎหมาย เพียงแต่ทว่าในขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดโต้แย้งการปฏิบัติงานดังกล่าวแต่อย่างใด
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาสั่งยุติเรื่องเพื่อจัดทำเป็นเรื่องเสร็จต่อไป

(ลงชื่อ) วรรณชัย บุญบำรุง
(นายวรรณชัย บุญบำรุง)
หัวหน้ากลุ่มกฎหมายกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

ชไมพร/พิมพ์
๑๖ กันยายน ๒๕๔๕

 

police.go.th

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

* *

 

*

view