ศาลไทยรับฟังข้อมูลคอมพิวเตอร์เป็นพยานหลักฐานหรือเปล่า?

ศาลไทยรับฟังข้อมูลคอมพิวเตอร์เป็นพยานหลักฐานหรือเปล่า?
ในการต่อสู้คดีความไม่ว่าคดีแพ่งหรือคดีอาญา "พยานหลักฐาน" ถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากครับ กรณีของคดีที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ คงปฏิเสธไม่ได้นะครับว่าพยานหลักฐานที่ทั้งฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยจะหยิบยกกันขึ้นมาต่อสู้ในศาลก็คงเป็นพยานหลักฐานที่เป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ทั้งสิ้น ซึ่งหากศาลท่านไม่รับฟังพยานหลักฐานเหล่านี้ก็จบครับ คงจะพิสูจน์อะไรไม่ได้

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทย เปิดช่องให้ศาลใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานได้อย่างกว้างขวางครับ แต่เท่าที่ใช้กันอยู่ก็คิดว่าพยานหลักฐานมีเพียง 3 ประเภทคือ พยานบุคคล พยานเอกสารและพยานวัตถุเท่านั้น แล้วข้อมูลคอมพิวเตอร์จะเป็นพยานอะไรล่ะครับ เป็นพยานวัตถุก็ไม่ใช่ พยานเอกสารก็ไม่เชิง ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า แล้วเราจะไปสนใจทำไมว่าข้อมูลคอมพิวเตอร์เป็นพยานอะไร ก็รับฟังไปเท่านั้นก็หมดเรื่องใช่ไหมครับ จริงๆ มันไม่ใช่อย่างนั้นสิครับ เพราะกฎหมายเขากำหนดกลไกในการเสนอพยานหลักฐานแต่ละประเภทต่อศาลเอาไว้แตกต่างกัน ถ้าไม่ปฏิบัติตามวิธีการขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ศาลท่านก็ไม่รับฟังครับ ดั้งนั้นจึงมีความพยายามที่จะแก้ไขกฎหมายเพื่อจะกำหนดวิธีการรับฟังพยานหลักฐานคอมพิวเตอร์เอาไว้ครับ

ปัจจุบันนี้ พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 เขาก็บัญญัติว่าห้ามศาลปฏิเสธไม่รับฟังข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ครับ แต่มิได้กำหนดรายละเอียดในเรื่องการเสนอข้อมูลคอมพิวเตอร์ต่อศาลว่าต้องทำอย่างไร ต้องระบุในบัญชีระบุพยานหรือไม่ และต้องส่งสำเนาข้อมูลหรือสื่อบันทึกข้อมูลให้คู่ความอีกฝ่ายหรือไม่ ซึ่งในประเด็นนี้ก็ได้ข้อยุติในระดับหนึ่งแล้วนะครับ ว่าในส่วนรายละเอียดเรื่องนี้ท่านประธานศาลฏีกาจะได้ไปออกข้อกำหนดเพื่อกำหนดรายละเอียดการรับฟังพยานหลักฐานที่เป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ในคดีแพ่งและคดีอาญาครับ

ส่วนคดีของศาลชำนัญพิเศษอื่นๆ นั้น ปัจจุบันข้อกำหนดของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ศาลล้มละลายกลาง และแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของศาลฎีกา ก็ได้กำหนดเรื่องการรับฟังพยานหลักฐานที่เป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์เอาไว้แล้วครับ คราวนี้คงต้องตั้งตารอครับว่าข้อกำหนดที่ใช้กับศาลแพ่งและศาลอาญา(ซึ่งเป็นศาลส่วนใหญ่ของประเทศ) จะออกมาใช้บังคับเมื่อใดครับ เพื่อจะได้หมดปัญหาการตีความ เพราะศาลอื่นเขาก็บัญญัติเรื่องนี้ไว้หลายปีแล้วครับ

โดย Lawyerthai.com

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

* *

 

*

view