ลักษณะการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบน Internet

ลักษณะการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบน Internet
1. ละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา เนื่องจากในอินเทอร์เน็ตไม่มีขอบเขตหรือดิน
แดนที่จะนำหลักดินแดน (Territoriality Principle) ในกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญามาปรับใช้ได้ ดังนั้นจึงอาจมีปัญหาเกิดขึ้น เช่น ความซ้ำซ้อนของเครื่องหมายการค้าหรือสิทธิบัตรข้ามประเทศ

ตัวอย่างเช่น เครื่องหมายการค้าของบริษัทในประเทศหนึ่งอาจไปซ้ำกับเครื่องหมายการค้าของอีกบริษัทหนึ่งในอีกประเทศหนึ่งก็ได้ โดยทั้งคู่อาจมีความต้องการที่จะเปิดเว็บไซต์จำหน่ายสินค้าโดยใช้เครื่องหมายการค้าอย่างเดียวกัน เช่นนี้ก็จะเกิดปัญหาขึ้นว่าบริษัทใดเป็นเจ้าของสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าว เรื่องนี้มีตัวอย่างเกิดขึ้นจริงในประเทศแถบอเมริกาใต้

2. ปัญหาการจดทะเบียนชื่อโดเมนเนม การจดทะเบียนโดเมนเนมที่เข้าข่ายละเมิด
สิทธิผู้อื่นคือ การจดทะเบียนเพื่อมุ่งแสวงกำไรในทางมิชอบ (Cyber Squatting) เช่นการจดทะเบียนชื่อบริษัทดังๆแล้วนำออกประมูลขาย เช่น การจดทะเบียน tfbegirl.com หรือ thaifarmerbank.com แล้วตั้งราคาขายโดยที่เว็บไซต์จริงของธนาคารกสิกรไทยคือ tfb.co.th

ดังนั้นหากคิดจะทำการค้าบนอินเทอร์เน็ตแล้วสิ่งที่ควรระวังอีกประการหนึ่งก็คือต้องดูว่าชื่อเวบไซต์ของเราไปตรงกับของใครเขาหรือไม่ หรือว่าชื่อของเรามีคนแอบเอาไปจดไว้ก่อนแล้วหรือไม่ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ควรพิจารณาอย่างรอบคอบ

3. ปัญหากฎหมายที่มีอยู่ไม่สามารถคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่มีความสลับ
ซับซ้อนไปตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้
เช่น ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์เพลง MP3 ที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะในบ้านเรา แล้วยิ่งมีนักร้องออกมาต่อต้านว่าจะไม่ไปพันธุ์ทิพย์ (Ha Ha) นั่นเป็นเพราะเขาเสียผลประโยชน์จากการถูกละเมิดลิขสิทธิ์เพลง

และเนื่องจากเทคโนโลยี MP3 สามารถบันทึกเสียงในรูปดิจิตอลที่มีขนาดข้อมูลเล็กกว่าเพลงที่บรรจุในแผ่นซีดีประมาณ 10 เท่า โดยที่คุณภาพเสียงไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก ดังนั้นจึงมีการนำเพลง MP3 ไปไว้ในเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่อให้คนทั่วไปสามารถดาวน์โหลดไปฟังได้ นั่นก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการละเมิดลิขสิทธิ์

4. การพัฒนาการทางเทคโนโลยีทำให้เกิดความต้องการคุ้มครองทรัพย์สินทาง
ปัญญาใหม่ๆ
เช่น สิทธิบัตรวิธีการดำเนินทางธุรกิจ หรือการคุ้มครองฐานข้อมูล ตัวอย่างเช่น การประมูลย้อนกลับ(Reverse Auction)ที่บริษัท Priceline.com เป็นผู้ใช้และต้องการจดเป็นสิทธิบัตรเพื่อให้ได้รับการคุ้มครองและป้องกันการลอกเลียนแบบ หมายความว่า ถ้าบริษัทใดต้องการทำ Reverse Auction ก็อาจโดนฟ้องร้องได้ แต่วิธีการนี้ก็มีใช้โดยทั่วไปในเว็บไซต์ประมูลทั้งในไทยและต่างประเทศ

ดังนั้น การให้การคุ้มครองวิธีการดำเนินการทางธุรกิจจะจูงใจให้เกิดการจดสิทธิบัตรในเชิงกลยุทธ์เพื่อหวังการฟ้องร้อง เช่น บริษัท Amazon.com ฟ้องร้อง Barnes & Noble ว่าละเมิดสิทธิบัตรการซื้อสินค้าด้วยวิธีการ One Click Buying ของตนหรือการที่บริษัท Walker Asset Management ฟ้องร้องบริษัท Expedia ในเครือ Microsoft ว่าละเมิดสิทธิบัตรการประมูลโดยวิธี Reverse Auction ของตน

จะเห็นได้ว่าสิทธิบัตรวิธีการดำเนินทางธุรกิจทำลายสมดุลย์ระหว่างผลประโยชน์ของ
สังคมและผลประโยชน์ของผู้ทรงสิทธิ และทำลายจิตใจสาธารณะอันเป็นวัฒนธรรมของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตซึ่งให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทนในรูปของตัวเงิน

การให้ความคุ้มครองตามกฎหมายไทย

สิ่งประดิษฐ์ตามเทคโนโลยีและสิทธิบัตรที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิบัตรของไทย แต่ในอนาคตประเทศไทยอาจได้รับแรงกดดันจากภายนอกให้ขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรไปถึงสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆเหล่านี้ด้วย

อย่างไรก็ดีการให้ความคุ้มครองหรือการยอมรับการจดทะเบียนวิธีการดำเนินการทางธุรกิจย่อมเป็นการปิดกั้นโอกาสทางธุรกิจ อีกทั้งยังจะไม่ส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจด้วย ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้จะเป็นอย่างไรเราคงต้องติดตามดูกันต่อไป

ข้อเขียนนี้หากจะมีข้อผิดพลาดหรือไม่เหมาะสมประการใด ผู้เขียนต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยและยินดีที่รับฟังข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาแนวทางการเขียนบทความในครั้งต่อๆไป

ท้ายนี้ ขอขอบคุณที่มาของข้อมูลในครั้งนี้ไม่ว่าจะเป็น หนังสือเรียนวิชา LW 425 กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา โดยท่านอาจารย์ นิวัฒน์ เพิ่มลาภและข้อมูลจากเว็บไซต์ teeneethai.com ในส่วนของบทความจากงานวิจัยของท่าน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ขอขอบคุณมากครับ

โดย Lawyerthai.com

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

* *

 

*

view