กรณีศึกษาคดีละเมิดลิขสิทธิ์ Microsoft vs. Atec

กรณีศึกษาคดีละเมิดลิขสิทธิ์ Microsoft vs. Atec
เรื่องนี้เป็นคำพิพากษาฎีกาเมื่อปี 2543 ที่ผ่านมานี่เองครับ เป็นคดีสำคัญที่ผู้ศึกษากฎหมายโดยทั่วไปส่วนมากจะรู้จัก โดยเฉพาะในวิชากฎหมายว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาและกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยพยานหลักฐาน คำพิพากษาฎีกาของจริงนี่จะยาวมากๆแต่ที่ผมยกมาจะอยู่ในรูปของการเล่าเรื่องมากกว่า ไม่ใช่เป็นฎีกาโดยย่อแต่อย่างใด เพียงอยากให้รู้ว่าคดีนี้ที่มาที่ไปเป็นอย่างไร และผลของคำพิพากษาเป็นอย่างไร

จากข้อมูลที่ผมได้มามีคำพิพากษาของสองศาลคือ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางและของศาลฎีกา ซึ่งแน่นอนครับ ผลของคำพิากษาต่างกัน

โจทก์ (บริษัทไมโครซอฟ คอร์ปอเรชั่น) ฟ้องว่า จำเลย (บริษัท เอเทค คอมพิวเตอร์ จำกัด) ได้ละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ประเภทโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ได้แก่ โปรแกรมไมโครซอฟท์วินโดวส์ 3.11,ไมโครซอฟ์วินโดวส์ 95 ไทย อิดิชั่น,ไมโครซอฟท์ออฟฟิศ, ไมโครซอฟท์ อินเตอร์เนท เอ็กพลอเรอร์ ฯลฯ โดยทำซ้ำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าวลงในสื่อบันทึกข้อมูลถาวรของเครื่อง (Hard Disk) ของจำเลยโดยไม่ได้รับอนุญาต และได้ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขายและแจกจ่ายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ทำซ้ำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ดังกล่าวแก่ลูกค้าของจำเลย อันเป็นการกระทำเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้า โดยรู้หรือควรรู้ว่าโปรแกรมดังกล่าวทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์โจทก์ และไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ตามประมวลกฎหมายอาญา และขอให้จ่ายค่าปรับครึ่งหนึ่งแก่โจทก์

ศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์และเป็นเจ้าของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งถือว่าเป็นงานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรมอันเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์

โจทก์เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนตามกฎหมายประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ และประเทศไทยเป็นภาคีร่วมอยู่ด้วย โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์จึงได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์

คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในเบื้องต้นว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องเนื่องจากได้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทนโดยชอบหรือไม่ ในประเด็นนี้จะไม่ขอกล่าวถึงในรายละเอียด แต่อยากให้รู้ไว้ว่าอำนาจฟ้องคดีสำคัญมากในการพิจารณาคดี ผู้ที่จะฟ้องคดีได้ต้องมีกฎหมายให้อำนาจไว้ ไม่เช่นนั้นศาลจะไม่รับพิจารณาคดีให้ คดีก็จะเป็นอันตกไป

และหากศาลสั่งจำหน่ายคดีแล้วจะนำคดีมาฟ้องใหม่ในมูลความผิดเดิมไม่ได้ เพราะจะกลายเป็นการฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

ส่วนในคดีนี้เป็นเรื่องการมอบอำนาจให้ตัวแทนในประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการ และข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์มอบอำนาจให้ดำเนินการโดยชอบแล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้องโดยชอบ

คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่
โจทก์มีนาย S (ชื่อสมมุติ) เป็นประจักษ์พยานในการซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยได้รับการว่าจ้างจากโจทก์ให้ทำการตรวจสอบว่าจำเลยได้ละเมิดลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์หรือไม่ พยานจึงติดต่อซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลยดังเช่นลูกค้าทั่วไปที่สำนักงานสาขาของจำเลย

พยานได้พบจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นพนักงานขายของจำเลยที่ 1 ซึ่งเสนอขายเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลยที่มีโปรแกรมของโจทก์ตามฟ้องติดตั้งอยู่ในเครื่องโดยไม่ได้รับอนุญาต และให้มารับเครื่องในวันถัดไปอีก 5 วัน ในวันนัดรับเครื่องจำเลยที่ 3 และช่างเทคนิคของจำเลยที่ 1 ได้แสดงการทำงานของเครื่องให้พยานดูจนเป็นที่พอใจ พยานจึงซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวมา และได้ทำรายงานพร้อมกับรวบรวมหลักฐานการซื้อขายและเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดส่งให้แก่ผู้รับมอบอำนาจโจทก์

พยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความว่า ได้รับการติดต่อให้มาทำการตรวจสอบเครื่อง
คอมพิวเตอร์ดังกล่าวว่ามีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์โจทก์หรือไม่ จากการตรวจสอบพบว่ามีการติดตั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ตามฟ้องไว้แล้วในเครื่อง โดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าวนั้นได้มีการทำซ้ำขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์และมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรหัสประจำโปรแกรมของแต่ละโปรแกรมใหม่ และระหว่างทำการซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ นาย S ได้แอบทำการบันทำการสนทนาระหว่างนาย S กับจำเลยที่ 3 ไว้ด้วย

ทางนำสืบฟังได้ว่า โปรแกรมต่างๆของโจทก์ที่ถูกติดตั้งอยู่บน Hard Disk ของคอมพิวเตอร์นั้น ได้ถูกคัดลอกและทำสำเนามาจาก Hard Disk ของเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องอื่น นอกจากนั้นจากการตรวจสอบรหัสโปรแกรม (Serial Number) ของโปรแกรมโจทก์ที่ถูกติดตั้งอยู่บนเครื่องคอมพิวเตอร์พบว่าเลขรหัสที่ปรากฎเป็นเลขรหัสที่ถูกทำลายไปแล้ว ไม่ใช่เลขรหัสที่โจทก์กำหนดไว้ใช้กับโปรแกรมของโจทก์แต่อย่างใด แสดงให้เห็นว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์นั้นเป็นโปรแกรมที่ถูกทำซ้ำขึ้นมา โดยมีการแก้ไขเลขรหัสต่างๆ

และที่สำคัญคือ ไม่ปรากฎหลักฐานยืนยันความถูกต้องของโปรแกรมของโจทก์ดังกล่าว
ซึ่งพยานโจทก์เบิกความว่า โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ที่ถูกต้องนั้นต้องมีเอกสารประกอบยืนยันว่าเป็นของแท้ ซึ่งได้แก่ หนังสือรับรองว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นของแท้ (Certificate of Authenticity) หนังสือสัญญาข้อตกลงระหว่างโจทก์และผู้ใช้ (End-User License Agreement for Microsoft Software) ใบลงทะเบียนผลิตภัณฑ์ หนังสือคู่มือการใช้งาน และแผ่นซีดีรอม (CD -ROM) หรือแผ่นดิสค์เก็ต (Diskette) ที่บันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ จึงแสดงให้เห็นได้ว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทั้งหมดในเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นโปรแกรมที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์โจทก์

กรณีต้องวินิจฉัยประเด็นต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นนิติบุคคลและจำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการผู้จัดการได้ร่วมกระทำละเมิดต่อโจทก์ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความข้างต้นหรือไม่

ประเด็นนี้ความสำคัญอยู่ที่ข้อความที่ถอดออกมาจากเทปที่แอบบันทึกระหว่างนาย S กับพนักงานขายความว่า "So I, Atec can give you if you need but it have no license" แปลเป็นภาษาไทยว่า "เอเทค ให้คุณได้ถ้าคุณต้องการ แต่มันไม่มีใบอนุญาต" ข้อความนี้แสดงให้เห็นว่าการจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์โดยติดตั้งโปรแกรมที่ไม่ได้รับอนุญาตนั้น มิได้เป็นการกระทำเฉพาะจำเลยที่ 3 เท่านั้น พฤติการณ์น่าเชื่อว่าพนักงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระดับบริหารของบริษัทจำเลยที่ 1 ย่อมมีส่วนรู้เห็นกับการกระทำของจำเลยที่ 3 ด้วย

จากข้อเท็จจริงที่ได้ความจากพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้มั่นคงโดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้อง ส่วนพยานของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ไม่มีน้ำหนักพอรับฟังหักล้างพยานโจทก์ได้

พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ อันเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดฐานทำซ้ำซึ่งโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์เพื่อการค้าตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 400,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 เป็นเวลา 1 ปี และปรับ 300,000 บาท

ความผิดฐานแจกจ่ายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้าตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 200,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 เป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน และปรับ 150,000 บาท รวมลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 600,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 เป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน และปรับ 450,000 บาท

เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยได้รับโทษจำคุกมา
ก่อน เห็นควรให้โอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไป โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา แต่ให้ขังได้ไม่เกิน 1 ปี และให้จ่ายค่าปรับกึ่งหนึ่งแก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์

จริงๆแล้วคำพิพากษายาวมากกว่านี้ ก็ยกมาเฉพาะประเด็นที่อยากนำเสนอเท่านั้น คือ ประเด็นเรื่องโทษของการละเมิดลิขสิทธิ์ว่ามีผลรุนแรงมากน้อยเพียงใด อยากให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยก็ให้ความสำคัญกับเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์เช่นกัน หากมีพยานหลักฐานเพียงพอต่อการพิสูจน์ความผิด ทั้งนี้ หากสนใจฎีกาเต็มอาจค้นหาได้ที่ cipitc.or.th หรือที่ thaijustice.com ขอขอบคุณเวบไซต์ทั้งสองแห่งมาพร้อมนี้ด้วยครับ

ที่เสนอไปเป็นคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
กลาง ส่วนของศาลฎีกาในคดีเดียวกันนี้ (คดีนี้ได้มีการอุทธรณ์ไปยังศาลฎีกาเพื่อตัดสินชี้ขาด) มีคำพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์เนื่องจากเห็นว่า ความผิดเกิดขึ้นเนื่องจากการล่อซื้อของโจทก์ (นาย S ) เท่ากับโจทก์เป็นผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดดังกล่าวขึ้น โจทก์ย่อมไม่อยู่ในฐานะผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอำนาจฟ้องคดี พิพากษากลับ โดยให้ยกฟ้องโจทก์ ในส่วนนี้เป็นเรื่องที่ผู้ศึกษากฎหมายจะต้องทำความเข้าใจในเรื่องการล่อซื้อ ชาวไอทีทั้งหลายไม่ต้องกังวลครับ

โดย Lawyerthai.com

ความคิดเห็น

  1. 1
    19/01/2012 10:07

แสดงความคิดเห็น

* *

 

*

view