ทำสัญญารับจ้างเขียน web site ยังไงไม่ให้เสียเปรียบ

ทำสัญญารับจ้างเขียน web site ยังไงไม่ให้เสียเปรียบ
ผมเป็นนักกฎหมาย ไม่ได้อยู่ในธุรกิจการเขียน web site (และจริงๆก็ไม่ได้อยู่ในธุรกิจอะไรเลยครับ) เลยไม่รู้ว่าสนนราคาค่าจ้างการเขียนเว็บเขาคิดกันยังไงครับ แต่เคยอ่านข้อมูลในอเมริกาเห็นว่าสนนราคาที่เขาจ้างเขียน web site มีตั้งแต่ $5,000 ไปจนถึง $600,000 ครับ เงินไม่ใช่น้อยๆ เลย ดังนั้น เขาจึง serious กันมากกับการร่างสัญญารับจ้างเขียน web site ครับ ผมจึงจับเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังว่า เมื่อคุณตกลงรับจ้างเขียนเว็บไซต์ให้ใครแล้ว ในสัญญารับจ้างควรระบุถึงอะไรบ้าง

ประเด็นแรกที่ต้องระบุในสัญญาก็คือสิทธิ-หน้าที่ของคู่สัญญาครับ หลัก ๆ ที่ควรระบุก็คือวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะใช้ในการเขียนนั้น คุณจะหามาเองหรือให้ผู้ว่าจ้างจัดหามาให้คุณ เพราะคุณอาจต้องการรูปภาพ รายงานของบริษัทหรือเอกสารอื่น ถ้าให้ผู้ว่าจ้างจัดหามาให้ก็ต้องระบุให้ชัดว่าเขาต้องส่งมอบสิ่งของเหล่านั้นให้คุณเมื่อใด จะได้ไม่ส่งผลถึงความล่าช้าในการเขียน web site ครับ นอกจากนั้นกระบวนการในการเขียนก็ควรกำหนดไว้เป็นขั้นๆ ในสัญญาเพื่อให้ผู้ว่าจ้างตรวจสอบความสำเร็จของเว็บไซต์ได้ตามเวลาที่กำหนด ส่วนอาจระบุว่า 1 เดือนโครงร่างเว็บไซต์เสร็จ 2 เดือนสามารถใช้เว็บไซต์ search ข้อมูลได้อย่างนี้เป็นต้น และที่สำคัญอีกประการก็คือถ้าจะต้องใช้ข้อมูลอื่น ๆ มาเขียน web site ก็ควรระบุให้ชัดเจนว่าข้อมูลนั้นเป็นลิขสิทธิ์ของใคร มีการขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์หรือไม่

ประการที่สองที่ต้องระบุคือเรื่องเงินครับ โดยทั่วไปผู้รับจ้างก็จะจนกว่าผู้จ้างครับ จึงควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ให้มาก โดยส่วนใหญ่ก็จะแบ่งชำระเงินเป็นงวด โดยอาจชำระล่วงหน้าก้อนหนึ่ง เพื่อเป็นหลักประกันว่าเขาจะยังจ้างเราต่อไปถึงแม้ผลงานในช่วงแรกของเราจะไม่โดนใจเขาเท่าไร ส่วนการชำระงวดอื่น ๆ ก็อาจจะไปผูกกับความสำเร็จของเนื้องานในแต่ละช่วงครับ การกำหนดอย่างนี้ก็เป็นแรงจูงใจให้เราทำงานให้สำเร็จ และยังจำกัดความเสี่ยงของผู้ว่าจ้างด้วยครับ

ประการต่อไปคือการกำหนดลักษณะของเว็บไซต์ที่สมบูรณ์ซึ่งเป็นเป้าประสงค์ของสัญญาว่าจะให้มีลักษณะอย่างไร ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นมาตรฐานในการพิจารณาว่าผู้รับจ้างได้ทำหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาแล้วหรือไม่ ตรงนี้ควรจะระบุให้ละเอียดครับว่าผู้ว่าจ้างต้องการอย่างไร แล้วผู้รับจ้างจะทำเสร็จตามที่ต้องการในเวลาใด

ประการที่สี่ ที่ต้องระบุในสัญญาก็คือจะให้เว็บไซต์นั้นเป็นลิขสิทธิ์ของใคร (ในประเด็นนี้ขอให้ดูในหัวข้อที่ผมเคยเขียนแยกออกไว้ต่างหากแล้ว) การให้เว็บไซต์เป็นของใครนั้นมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน ถ้าให้เป็นของคนเขียนเว็บ คนเขียนก็ happy แต่ผู้ว่าจ้างจะsadครับ เพราะทุกครั้งที่ผู้ว่าจ้างประสงค์จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือทำอะไรกับเว็บไซต์ก็ต้องมาขออนุญาตคนเขียนก่อน ในต่างประเทศผมเข้าใจว่าเขากำหนดไว้เป็นหลักให้ลิขสิทธิ์เป็นของผู้ว่าจ้าง เพราะข้อมูลส่วนใหญ่ที่นำมาเขียนเว็บไซต์เป็นของผู้ว่าจ้างอยู่แล้วครับ

สิ่งสุดท้ายที่ต้องระบุไว้ในสัญญาประเภทนี้ก็คือ การกำหนดว่าถ้ามีการผิดสัญญาจะเยียวยาความเสียหายกันอย่างไร แม้ว่าสัญญาประเภทนี้อาจปรับได้เป็นสัญญาจ้างทำของในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่การระบุไว้ให้ชัดเจนในสัญญาก็จะเป็นการดีครับ

ความสำเร็จในการพัฒนาเว็บไซต์ก็ขึ้นอยู่กับการวางแผนด้วยความละเอียดรอบคอบและข้อตกลงที่มีความชัดเจนเท่า ๆ กับฝีมือของ web developer นะครับ

จากเว็บ lawyerthai.com

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

* *

 

*

view